18/10/2015
|
สรุปประเด็นข้อเสนอและความคิดเห็นประเด็นสำคัญของมติ
คณะรัฐมนตรีมีมติ
๑. เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้ ๑.๑ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ และโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์ ให้เพิ่มพื้นที่ดำเนินงานจากเดิม ๔๐ จังหวัด ปรับเพิ่มขึ้น ๕๕ จังหวัด โดยเพิ่มอีก ๑๕ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน กำแพงเพชร ตาก พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี นครปฐม และเพชรบุรี ๑.๒ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เพิ่มพื้นที่ดำเนินงานจากเดิม ๓๐ จังหวัด ปรับเพิ่มเป็นทุกจังหวัด ยกเว้น ๑๔ จังหวัดภาคใต้ และขยายพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมไปถึงพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) ๒. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงด้านการตลาด โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการในท้องถิ่น เครือข่ายสหกรณ์ เป็นต้น ให้มีการจัดทำแผนความร่วมมือทางการตลาด เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีตลาดรองรับที่ชัดเจน สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เป็นธรรมและสร้างรายได้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต ๒๕๕๙/๖๐ ด้านการผลิต (เพิ่มเติม) ให้เกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง ตลอดจนควรติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผลสำเร็จของโครงการทั้ง ๕ โครงการ ในช่วงระยะเวลา ๖/๑๒ เดือน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อลดปริมาณอุปทานข้าวเปลือกภายในประเทศในรอบฤดูกาลผลิตต่อ ๆ ไป ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย ๓. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตรวจสอบและคัดเลือกพื้นที่และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนการดำเนินโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต ๒๕๕๙/๖๐ ด้านการผลิต (เพิ่มเติม) จำนวน ๕ โครงการ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง โดยดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม (N) และพื้นที่ปลูกข้าวเหมาะสมน้อย (S3) ตามแนวทางและหลักการการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรม ทั้ง Zoning และ Agri-Map และให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ [เรื่อง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต ๒๕๕๙/๖๐ ด้านการผลิต (เพิ่มเติม)] โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับสิทธิ์ตามโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงการคลัง [โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต ๒๕๕๙/๖๐ (ไร่ละ ๑,๐๐๐ บาท)] |