11/10/2016
|
สรุปประเด็นข้อเสนอและความคิดเห็นประเด็นสำคัญของมติ
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
๑. เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี ๒๕๕๙/๖๐ จำนวน ๓ มาตรการ คือ (๑) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๙/๖๐ กรณีได้รับผลกระทบ (๒) มาตรการพักชำระหนี้สิน และขยายระยะเวลาชำระหนี้ แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๙/๖๐ และ (๓) มาตรการฟื้นฟูอาชีพสนับสนุนปัจจัยการผลิตและองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวต่อภัยพิบัติ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณและแนวทางการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณซึ่งอนุมัติหลักการมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๙/๖๐ จำนวน ๒ มาตรการ ภายในกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น ๒,๐๕๕,๗๒๐,๐๐๐ บาท จำแนกเป็น ๑.๑ การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๙/๖๐ โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน ๑,๙๕๓,๗๒๐,๐๐๐ บาท และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของอัตราการช่วยเหลือเกษตรกร (ครัวเรือนละ ๓,๐๐๐ บาท) ก่อนที่จะดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้งเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้อาจมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๖ เพิ่มเติมตามสิทธิอีกส่วนหนึ่งด้วย ๑.๒ มาตรการพักชำระหนี้สิน และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๙/๖๐ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการขยายระยะเวลาชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กับสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เป็นระยะเวลา ๖ เดือน โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร แทนสมาชิกในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี ของมูลหนี้ ๖,๘๐๐ ล้านบาท เพื่อเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ยให้แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ในกรอบวงเงิน ๑๐๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำรายละเอียดข้อมูลจำนวนสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยปี ๒๕๕๙/๖๐ และมูลหนี้ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกันด้วย และให้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ๒. ให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนมาตรการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมตลอดทั้งหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินโดยรวดเร็ว เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ตามความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๓. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ (เรื่อง การเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี) ในการเสนอเรื่องนี้ |