วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2559) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2559 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมฯ ดังนี้
1) ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนปฏิบัติการ ปี 2561 รวมถึงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ และแผนปฏิบัติการ ปี 2561 ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าว ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี พร้อมจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ให้สอดคล้องต่อความต้องการของพื้นที่ ตามเป้าหมายที่กำหนดในยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพยากร สำหรับกรณีในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีปัญหารุนแรงให้หน่วยงานร่วมกันพิจารณาในลักษณะบูรณาการเชิงพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำ และเพื่อให้โครงการมีผลสัมฤทธิ์ชัดเจน
2) ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการการปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ (พ.ศ.2558-2569) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และปรับปรุง ขยายเพิ่มเติมทิศทางเป้าหมายยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำจากปี 2558 ถึง 2569 เป็นปี 2558 ถึง 2579 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามภารกิจในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรจัดทำกรอบแนวทาง เป้าหมาย ตัวชี้วัด จัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามที่ฝ่ายเลขานุการ กนช. เสนอ และมอบหน่วยงานให้รับผิดชอบแต่ละยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 กรมทรัพยากรน้ำ ยุทธศาสตร์ที่ 2 กรมชลประทาน ยุทธศาสตร์ที่ 3 กรมชลประทาน ยุทธศาสตร์ที่ 4 กรมควบคุมมลพิษ ยุทธศาสตร์ที่ 5 กรมป่าไม้ และยุทธศาสตร์ที่ 6 กรมทรัพยากรน้ำ แล้วจัดส่งฝ่ายเลขานุการ กนช. เพื่อวิเคราะห์สรุปรวบรวมเสนอในที่ประชุมฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
3) ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้กรมชลประทานดำเนินโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเห็นชอบในหลักการให้กรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านยางดี บ้านยางนาดี ตำบลชีบน อำเภอบ้านเขว้า และบ้านละหานค่าย ตำบลโคกสะอาด อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ
4) ที่ประชุมเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ทั้งนี้ ให้จังหวัดลพบุรี ดำเนินการในส่วนการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าจำปีสิรินธรโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,448,000 บาท โดยให้ทำความตกลงกับสำนักงานงบประมาณ พร้อมกับเห็นชอบในหลักการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่โครงการ รวมทั้ง มอบหมายให้จังหวัดลพบุรี รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วย
และ 5) ในที่ประชุมเห็นชอบการขอยกเลิกรายการ และเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินงาน และขยายระยะเวลาดำเนินการ การใช้จ่ายงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคภายใต้แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนครอบคลุมทุกหมู่บ้านเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในการดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดี
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึงปี 2559 - 2560 ตามแนวทางที่กระกรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอใน 5 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 2) มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง 3) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 4) มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และ 5) มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรกรประสบภัย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายระหว่างการประชุมฯ ตอนหนึ่งว่า การบริหารจัดการน้ำ จะต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน จากต้นทาง กลางทาง ไปสู่ปลายทาง และจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของสำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี เพื่อเชื่อมโยงการจัดการงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด สิ่งสำคัญคือ จะต้องสร้างการรับรู้ที่เข้าใจให้กับประชาชน ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง โดยที่ผ่านมา เป็นการจัดเตรียมขั้นพื้นฐาน ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2561 เพื่อส่งต่อให้คณะทำงานชุดต่อไป ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งหมดนี้คือแผนงานตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนตลอดมา รัฐบาลเป็นเพียงเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ โดยจะมอบนโยบายและอนุมัติงบประมาณให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกับประชาชนในรูปแบบประชารัฐ ทำให้ประชาชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อนำประเทศไทยก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป
---------------------------------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่
สำนักโฆษก