30/12/2015
กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสวนไม้ผลของเกษตรกร
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อสวนไม้ผลของเกษตรกร ทั้งการยืนต้นตายและการเหี่ยวเฉาไม่สามารถให้ผลผลิตได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่งพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ได้แก่ การให้ ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ของเกษตรกร ที่ผ่านการรับรองจาก ก.ช.ภ.จ. แล้ว ออกไปเป็นระยะเวลา 24 เดือน และลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราเดิมที่เกษตรกรต้องชำระลงร้อยละ 3 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรร้อยละ 3 ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท เป็นระยะเวลา 24 เดือน และสำหรับกรณีจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 (ไร่ละ 1,690 บาท)
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ยังได้พิจารณาให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปลูกใหม่ทดแทนต้นเดิมที่เสียหายจากภัยแล้ง และการดูแลรักษา ในอัตราไร่ละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ ในพื้นที่รวมทั้งหมดไม่เกิน 120,000 ไร่ ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ โดยพื้นที่ที่เสียหายได้ผ่านการรับรองจาก ก.ช.ภ.จ. แล้ว วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR=7) และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรร้อยละ 3 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 120 ล้านบาท สำหรับกำหนดชำระคืนและหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด
นอกจากนี้ ยังให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อ เพื่อลงทุนสร้างสระน้ำสำรองของเกษตรกร ระบบการให้น้ำแบบประหยัด และการขุดบ่อน้ำใต้ดิน เป็นต้น ในพื้นที่ของเกษตรกรเอง ซึ่งผ่านการรับรองจาก ก.ช.ภ.จ. แล้ว รายละไม่เกิน 130,000 บาท (สระมีขนาดเท่ากับ 25x35x3 เมตร เท่ากับความจุ 2,625 ลูกบาศก์เมตร และใช้พื้นที่ 875 ตารางเมตร หรือ 0.55 ไร่) ทั้งนี้ ขนาดของสระน้ำสามารถปับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ของเกษตรกร วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 845 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR=7) และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรร้อยละ 3 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 101.40 ล้านบาท สำหรับกำหนดชำระคืนและหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด ยกเว้น เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการอื่นของรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ สำหรับการจัดสร้างแหล่งน้ำสำรองเพื่อการเกษตรสำหรับชุมชนในระยะยาว ได้มอบหมายให้กรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการต่อไป
ที่มาข่าว : ข่าวสาร กษ.
ที่มาข่าว : ข่าวสาร กษ.