31/05/2016
กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต หลังครม.มีมติรวม 3 โครงการ หนุนการใช้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นพืชที่หลากหลายตามความต้องการของตลาด และการสนับสนุนสินเชื่อแปลงใหญ่
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 928.79 ล้านบาทประกอบด้วย
1. โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 โดยกรมการข้าวจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กลุ่มเป้าหมายในแหล่งปลูกข้าวข้าวหอมมะลิ 23 จังหวัด จำนวน 1,280 หมู่บ้าน 64,000 ครัวเรือน พื้นที่ 640,000 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 125 กิโลกรัม นำไปปลูกในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ โดยใช้งบประมาณของกรมการข้าวจำนวน 206 ล้านบาท
2. โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ในกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 60,000 ครัวเรือน พื้นที่ 300,000 ไร่ ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มผลิต เพื่อให้การบริหารจัดการในด้านจัดการเรียนรู้ การผลิต การจัดการผลผลิต และการตลาดได้อย่างเหมาะสม และมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานกิจกรรมที่เกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชที่หลากหลายตามความต้องการของเกษตรกร รายละไม่เกิน 5 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าว ได้มีโอกาสเรียนรู้ในกิจกรรมทางเลือก และมีรายได้ระหว่างการลดรอบการปลูกข้าวในฤดูนาปรัง โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณดำเนินการ 636.52 ล้านบาท
3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 2,130 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนาปีการผลิต 2559/60 แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน (ที่ผ่านความเห็นชอบเป็นกลุ่มการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่จากคณะอนุกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด จำนวน 426 กลุ่ม ที่ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ที่เสนอขอรับการสนับสนุนเงินกู้ กำหนดวงเงินกู้กลุ่มละไม่เกิน 5,000,000 บาท โดยรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนในอัตราร้อยละ 3.51 ต่อปี แต่คิดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี กำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้ คิดเป็นวงเงินที่รัฐบาลต้องชดเชยดอกเบี้ยจำนวนเงิน 74.55 ล้านบาท โดยขอรับงบประมาณจัดสรรจากงบรายจ่ายประจำปี
|